Saturday, 31 July 2010

Farewell Reception




Mrs. Junko Yokota กงศุลใหญ่ญี่ปุ่นประจำประเทศไทยต้องย้ายกลับไปประจำการที่กรุงโตเกียว อยากขอบคุณท่านกงศุลใหญ่ที่สนับสนุนศิลปินเล็กๆ อย่างเราด้วยดีเสมอมา ท่านกงศุล Junko มีชื่อไทยว่า ท่านชงโค เป็นชื่อดอกไม้ที่มีความสวยงามอ่อนหวาน ท่านกงศุลได้เคยมาชมการแสดงดนตรี Tsukibae เมื่อสองปีก่อน หลังจากนั้นได้มีโอกาสเล่นดนตรีที่สถานกงศุลก่อนที่จะไปทำงานวิจัย
ท่านกงศุลเป็นผู้ที่เข้าใจในศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี ในงานเลี้ยงส่งนี้ท่านได้บรรเลงขิมเพลงล่องแม่ปิงและสร้อยเวียงพิงค์เป็นบทเพลงพื้นบ้านล้านนาร่วมกับวงดนตรีจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย
ก่อนกลับท่านกงศุลฯได้แนะนำให้รู้จักกับนักแสดงเปียโนคนญี่ปุ่นที่มีฝีมือ เราเฝ้าแต่หวังว่าจะได้มีโอกาสร่วมแสดงกับนักเปียโนชาวญี่ปุ่น Astuko Seta

Saturday, 24 July 2010

Birth Day Party 2010





ปีนี้ย่างเข้าสู่วัยกลางคน หลังจากกลับมาถึงเชียงใหม่งานวันเกิดผ่านไปด้วยการได้เล่นดนตรีร่วมกับวงช้างสะตนในงานเลี้ยงวันเกิดคุณรุธ เจ้าของโรงแรมราชมรรคาเกิดวันเดียวกัน วันงานหลังจากที่วงช้างสะตนเล่นดนตรีเสร็จฝนตกกระหน่ำมากทำให้การแสดงชุดอื่นๆ ต้องย้ายเข้ามาแสดงด้านในโรงแรม
จากงานที่ผ่านไปทำให้ไม่ได้นั่งคุยกันกับคุณรุธ คุณรุธเลยจัดเลี้ยงอาหารมื้อค่ำเพื่อที่เราจะได้พบ และพูดคุยกันหลังจากที่ไม่ได้เจอกันมานาน อาหารที่โรงแรมราชมรรคาอร่อยเหมือนเดิม บรรยากาศโรงแรมอบอุ่น อาจารย์ใหม่ อาจารย์หนุ่ม พี่ต๋อม พี่โม ชินโกะ นิค น้าเปิ้ล และพี่เก๋มาร่วมทานมื้อค่ำกัน อาจารย์ใหม่ลงมือทำขนมเค็กชอคโกแลตกับมือ อร่อยครับ ขอขอบคุณอาจารย์ใหม่มา ณ ที่นี้

จอผักกาดสูตรปรับปรุง






เมนูอาหารล้านนา 'จอผักกาด'

ส่วนประกอบ

ผักกาดหรือผักกวางตุ้ง 1 กำมือโดยประมาณ
ซี่โครงหมู 500 กรัม

เครื่องปรุง

พริกแห้ง 2 เม็ด
กระเทียมเจียว 2 ช้อนชา
เต้าเจี้ยว 2 ช้อนชา
น้ำมะขามเปียก 1 ซอง (ปัจจุบันมีขายสำเร็จ)
น้ำปลา 1 ช้อนชา
ซุบคนอร์ 1 ก้อน
น้ำ 2 1/2 ถ้วยตวง

วิธีทำ
ตั้งไฟในหม้อเติมน้ำสุก 2 1/2 ถ้วยตวงรอจนน้ำเดือด ล้างซี่โครงหมูติดมันให้สะอาด ต้มซี่โครงให้สุกระหว่างที่ต้มควรตักฟองและเศษเลือดหมูที่ลอยบนผิวทิ้ง เมื่อหมูสุกยกลงพักไว้ รอหนึ่งคืนเพื่อให้หมูนุ่มอร่อย

หลังจากที่เตรียมซุปซี่โครงหมูมานานข้ามคืนถึงคราวจะลงมือทำจอผักกาดเสียที ตั้งไฟอุ่นซุบซี่โครงหมู พอน้ำเดือดอย่ารอช้าใส่ซุบก้อนคนอร์ลงไป 1 ก้อน หากมั่นใจฝีมือการปรุงอาจจะเติมเกลือแทนคนอร์ก็ได้ น้ำเดือดแล้วเติมผักกาดที่หั่นไว้ลงในหม้อ ผักเริ่มสุกแล้วลงมือปรุง เติมเต้าเจี้ยว ซึ่งปกติใช้ถั่วเน่า แต่สูตรนี้ได้ตอนที่อยู่ที่ญี่ปุ่นจึงไม่มีถั่วเน่าแบบล้านนา ครั้นจะใส่นัตโตะแบบญี่ปุ่นก็กลัวจะไม่เข้ากัน น้ำมะขามเปียก น้ำปลา และพริกแห้ง น้ำมะขามเปียกจะทำให้ผักเปลี่ยนสี ทำให้หน้าตาของเมนูนี้พื้นเมืองมากขึ้น พริกแห้งให้ใส่เป็นสิ่งสุดท้ายก่อนยกหม้อลงจะได้ไม่เผ็ดมาก ตักใส่ถ้วยโรยกระเทียมเจียว เสริฟพร้อมแคบหมู ทานกับข้าวสวยหรือเข้าเหนียวตามแต่ชอบ รับรองความอร่อยครับ

โพระดก


Friday, 23 July 2010

ซากุระพลัดถิ่น




ซากุระดอกไม้จากแดนอาทิตย์อุทัย เดินทางรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงเมืองเชียงใหม่ ได้ฝังรากลงบนบ้านหลังน้อยนี้ เธอทั้งสามจะมีชีวิตรอด ผลิบาน ออกดอกเต็มช่อแล้วร่วงโรยในวันใด วันนั้นจะเป็นวันที่ดอกซากุระเบ่งบานบนดินแดนล้านนา อาจต้องใช้เวลาสี่สิบ ห้าสิบปี ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่เห็นดอกซากุระเหล่านี้เบ่งยานในยามที่เราชราไหม ?
น้ำใจจากเพื่อนนักดนตรีชาวญี่ปุ่น Masahiko Todoriki เป็นน้ำใจที่งดงามมอบดอกซากุระเหล่านี้ให้พร้อมกับต้นโมมิจิ หรือที่รู้จักในนามเมเปิลญี่ปุ่น ขอบคุณในนำ้ใจแสนงามของเพื่อนที่รู้จักกันมาเกือบสิบปีแล้ว

อันนี้เอามาจากเวปเพื่อเป็นข้อมูลเกี่ยวกับซากุระ

"ซากุระ" มาจากคำเก่าแก่สองคำ คือ "ซา" หมายถึง วิญญาณแห่งพืชพันธุ์ และ "กุระ" หมายถึง
ที่ประทับของเทพเจ้า ดังนั้นคำว่า "ซากุระ" จึงหมายถึง ที่สถิตของจิตวิญญาณแห่งพืชพันธุ์ทั้งปวง

ในแง่ของตำนาน ซากุระเกิดขึ้นมาเพราะเทวนารีองค์หนึ่ง คือ โคโนะฮานะ ซากุยะ ฮิเมะเชื่อกันว่า พระนางเป็นผู้ริเริ่มปลูกซากุระขึ้นเป็นครั้งแรก จึงได้ชื่อตามพระนามของนาง
โคโนะฮานะ ซากุยะ ฮิเมะ เป็นธิดาของโอโฮยามัทซูมิ เทพแห่งภูเขา วันหนึ่งพระนางได้พบเทพนินิงิที่ชายทะเล และตกหลุมรักซึ่งกันและกัน เทพนินิงิทูลขอเทพโอโฮยามัทซูมิเพื่อขอนางมาเป็นชายา ในตอนแรก เทพโอโฮยามัทซูมิได้เสนอธิดาอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นเทพีแห่งก้อนหินมาเป็นคู่สยุมพรแทน แต่เทพนินิงิไม่ยอม พระองค์ยังยืนกรานในรักมั่นที่มีต่อเทวี แห่งซากุระ ในที่สุดจึงได้วิวาห์ดังที่ปรารถนา หลังอภิเษกได้เพียงวันเดียวเทพีโคโนะฮานะ ซากุยะ ฮิเมะก็ทรงครรภ์ เทพโอโฮยามัทซูมิทรงคลางแคลงพระทัยว่าบุตรในท้องไปลูกของพระองค์จริงหรือไม่

การที่เทพีโคโนะฮานะ ซากุยะ ฮิเมะ ได้กำเนิดโอรสในกองเพลิงนี่เอง ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันว่า พระนางควบคุมไฟได้ เลยก็เลยมีการสร้างศาลบูชาพระนางขึ้นที่ตีนภูเขาไฟฟูจิในปี ค.ศ.806 ด้วยความหวังว่า พระนางจะช่วยไม่ให้ภูเขาไฟพิโรธ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน พระนางจึงกลายเป็นเทพีแห่งภูเขาไฟฟูจิด้วย จนถึงทุกวันนี้ ผู้ที่ไปเยือนภูเขาไฟฟูจิมักจะแวะไปศักการะศาลของพระนางและเชื่อกันอีกอย่างว่า เมล็ดพันธุ์ของต้นซากุระที่พระนางนำมาปลูกเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นนั้น ก็มาจากภูเขาไฟฟูจิซึ่งพระองค์ดูแลอยู่นี่เอง

นอกจากนั้น พระนางยังเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความปลอดภัยในบ้านและเปลี่ยนโชคร้ายให้กลายเป็นดี ให้ผู้คนได้ตามที่หัวใจปรารถนาด้วย

Thursday, 22 July 2010

Lanna Spagetti




เมนูทดลองล้านนาสปาเกตตี้ Lanna Spagetti

ส่วนประกอบ
เส้นสปาเกตตี้เบอร์ 1 พอประมาณทานสองคน
เห็ดถอบ 1/4 ลิตร
ปลาช่อนชุบแป้งทอด 1/2 ตัว
ผักสลัด

เครื่องปรุง
กระเทียม 3 กลีบ
น้ำพริกข่า 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือ 1 ช้อนชา
น้ำมันมะกอก 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

นำกะทะตั้งไฟ เติมน้ำมันมะกอก พอกะทะร้อนนำกระเทียมลงผัดพอเหลืองใช้ความรู้สึกดูสีให้เหลืองอร่ามไม่ให้ไหม้ นำน้ำพริกข่าลงผัดให้เกิดกลิ่นหอม ผัดเห็ดถอบพอสุก นำปลาช่อนทอดกระเทียมลงผัด นำเส้นสปาเกตตีที่ลวกพักไว้ลงผัดเติมน้ำมันมะกอก เกลือ ผัดให้เข้ากัน * ฟังเพลง Bossa Nouva ไปด้วยจะทำให้อาหารมีรสชาดที่ดีขึ้น
จัดจานวางเสริฟ พร้อมกับเปลี่ยนไปฟังเพลงล้านนา ชุด Spirits of Mekong จะทำให้เมนูล้านนาสปาเกตตีสมบูรณ์แบบมากขึ้น

นำเมนูที่ทำจากการทดลองบวกความรู้สึกส่วนตัวมาฝากหากใครอยากจะลองทำบ้างก็ได้นะครับ แต่ลองทำแล้วอร่อยครับ หลายคนบอกว่า ทำอาหารใช้จินตนา เหมือนกับเล่นดนตรี จริงหรือไม่ต้องลองพิสูจน์นะครับ

* หมายเหตุ เห็ดถอบ จะขึ้นตามโคนต้นไม้ในป่าแพะ (ป่าเบญจพรรณ) หรือบริเวณที่เป็นป่าโปร่งตามพุ่มต้นเหียงต้นตึง (ไม้พลวง) ที่มีใบไม้หล่นทับถมกัน ทำให้บริเวณนั้นมีอากาศอับชื้นและอ้าว เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เชื้อเห็ดถอบเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เห็ดถอบยังชอบขึ้นตามพื้นดินที่อยู่ใต้โคนไม้ที่ถูกไฟเผา เช่น ไม้เต็ง ไม้พะยอม เห็ดชนิดนี้จะออกในเดือนพฤษภาคมปีละครั้ง เห็ดถอบมีลักษณะเป็นลูกกลมๆ ไม่มีลำต้น ไม่มีราก เห็ดที่ยังอ่อนอยู่มีสีขาวนวล ส่วนเปลือกนอกรอบ ห่อหุ้มสปอร์สีขาวนวล เห็ดแก่เปลือกเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ ส่วนสปอร์ข้างในก็เป็นสีดำด้วย ถ้าแก่มากๆ เปลือกเห็ดจะแตกออกเป็นแฉกรูปดาวเห็นสปอร์ข้างใน

เห็ดถอบ เป็นอาหารอร่อย หายาก สามารถรับประทานได้ทั้งดิบๆ และทำให้สุกแล้ว ถ้าเป็นเห็ดอ่อนล้างให้สะอาดแล้วรับประทานโดยจิ้มน้ำพริกตาแดง น้ำพริกข่า นอกจากนั้น ยังสามารถนำมาผัดและแกงคั่วใส่หน่อไม้ดอง หรือผัดเฉพาะเห็ดล้วนๆ ก็ได้ ถ้าใช้เห็ดถอบต้มเค็มไม่นิยมหั่นหรือซอยจะต้มทั้งลูก แต่ถ้าแกงหรือผัดจะซอยเป็นชิ้นบางๆ

โพระดก

นาฏยเปิงใจ






ร่วมการแสดงนาฏยเปิงใจกับกลุ่มหน่อศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่นสะล้อเพลงคุโรอิอาเมะ (黒い雨) เป็นเพลงที่แต่งใหม่ของเกาะโอกินาวา ประทับใจบทเพลงนี้ครั้งแรกที่ฟังเพลงจากการร้องของนักร้องที่มีพลังเสียงที่มีพลัง และมีเสน่ห์ในเสียงร้อง ชื่อ 古謝美佐子
ผ่านเวทีมาพอสมควรแต่การแสดงครั้งนี้รู้สึกตื่นเต้นเมื่อขึ้นไปอยู่บนเวที อาจจะเพราะเราต้องแสดงเป็นคนแรกต่อจากการแสดงหน้าม่าน หรืออาจจะเพราะเราต้องเล่นกับดนตรีประกอบจากซีดี หรือสมาธิก่อนการแสดงเรายังไม่ดี หรืออาจจะพะวงกับการสื่อความหมายบทเพลงผ่านสะล้อ แต่การแสดงก็เรียบร้อยดี หลายคนประทับใจ หลายคนชอบ มีคำวิจารณ์ดีๆ ให้ได้กลับมาคิดพิจารณา เพื่อพัฒนาการแสดงของเราต่อไป
ขอบคุณทุกท่านที่เป็นกำลังใจให้ ขอบคุณชินโกะที่ช่วยถ่ายภาพการแสดงครั้งนี้ให้

หยาดน้ำฟ้าสีนิล
หยดลง ไหลลง หลั่งริน
หยาดน้ำตา ไหลริน
ความพลัดพราก ย่อมเกิดขึ้นกับทุกคนเสมอ